บทความรู้

เปลี่ยนขยะให้เป็นโอกาส! ส่องแนวคิด “ตลาดสี่มุมเมือง” ต้นแบบจัดการขยะแบบทำเอง

ตลาด.jpg

คำพูดที่ว่า “โอกาสหรืออุปสรรค ขึ้นอยู่ที่มุมมอง” ดูจะจริงมาก สำหรับกรณี “ตลาดสี่มุมเมือง” ตลาดขายส่งแห่งใหญ่แห่งหนึ่งในโซนกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดศูนย์กลางของผักผลไม้ที่กระจายอยู่ในเมืองและจังหวัดรอบๆ 

ความน่าสนใจของตลาดสี่มุมเมือง คือ การเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นปัญหาให้กลายเป็น “โอกาส” ซึ่งปัญหาที่ว่านี้ก็คือ “ขยะ” ที่เกิดขึ้นทุกวันมากกว่า 200 ตัน เนื่องจากตลาดสี่มุมเมืองเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบ ซึ่งก็ต้องมีเศษผักผลไม้ หรือที่เรียกว่า byproduct เป็นจำนวนมาก โดยแต่เดิม ตลาดสี่มุมเมืองนำขยะไปฝังกลบที่อยุธยา

แต่แล้ววันหนึ่ง ทางผู้ประกอบการตลาดสี่มุมเมืองเล็งเห็นคุณค่าของการดูแลสิ่งแวดล้อม ก็เลยหาวิธีจัดการขยะอย่างเป็นระบบ และใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

 

1. แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

ข้อดีข้อหนึ่งของตลาดสี่มุมเมืองคือ จัดแบ่งโซนผักผลไม้ไว้ชัดเจน เช่น โซนสับปะรด โซนส้มโอ โซนดอกไม้ ดังนั้นในแต่ละโซนก็จะมีแต่ขยะประเภทนั้นๆ เช่น โซนดอกไม้ก็มีเศษดอกไม้ ซึ่งการมีขยะประเภทเดียวกันช่วยให้การแยกขยะทำได้ง่าย ดังนั้นทางตลาดสี่มุมเมืองจึงอาศัยจุดดีข้อนี้ นำถังขยะสำหรับใส่ขยะประเภทนั้นๆ ตั้งไว้ใกล้ๆ และขอความร่วมมือคนในตลาดไม่ทิ้งขยะอื่นลงไป ซึ่งวิธีนี้ช่วยทุ่นแรงและเวลาในการแยกขยะไปได้เยอะมาก

 

2. หาคนขนขยะแบบไม่ต้องเหนื่อย

เมื่อมีขยะ แน่นอนว่าก็ต้องมีคนขนขยะ คำถามคือ แล้วใครจะมาขนขยะเหล่านี้ให้? วิธีการของตลาดสี่มุมเมืองถือว่าเจ๋งมาก คือ ไม่ต้องจ้างคนมาใหม่ แต่ใช้คนที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งคนที่ว่านี้ก็คือ คนงานที่ขนผักหรือยกของในตลาด

 

เนื่องจากคนงานต้องขนของอยู่แล้ว และก็มีช่วงเวลาพัก แทนที่จะนั่งรอเฉยๆ ก็เปลี่ยนจุดนี้ให้เป็นโอกาส คือ สร้างแรงจูงใจให้คนเข็นขยะมาส่งที่จุดแยก โดยคนงานแต่ละคนจะได้บาร์โค้ดของตัวเอง เมื่อมาส่งขยะก็จะแสดงบาร์โค้ด ระบบก็จะเก็บแต้มไปเรื่อยๆ พอถึงกำหนด ก็จะตีออกมาเป็นเงินจ่ายคนงาน ซึ่งวิธีนี้ นอกจากตลาดจะไม่ต้องจ้างคนมาขนขยะแล้ว คนงานเองก็แฮปปี้เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

3. สร้างเครื่องแยกขยะแบบ D.I.Y.

นอกจากขยะที่เป็นเศษผักผลไม้ ตลาดสี่มุมเมืองก็มีขยะประเภทอื่นๆ ที่ต้องจัดการด้วย เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ ซึ่งวิธีแยกขยะก็ต้องอาศัยคนเข้ามาช่วย และเพื่อทุ่นแรงและทุ่นเวลา ทางตลาดเลยสร้างเครื่องแยกขยะแบบ D.I.Y. ขึ้นมาช่วย เช่น การใช้แม่เหล็กดูดขยะที่เป็นทองแดงหรือโลหะอื่นๆ ออกมา ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ต่อ หรือการนำพัดลมตัวใหญ่เป่าเพื่อแยกถุงพลาสติกที่ลอยออกมาจากขยะอื่นๆ เป็นต้น

 

4. นำขยะที่ได้ไปสร้างมูลค่า

การจัดการขยะของตลาดสี่มุมเมืองที่เป็นระบบ นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝังกลบขยะแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้ตลาดอีกด้วย หนึ่งคือ การนำขยะอินทรีย์ไปทำเป็นปุ๋ย ซึ่งต่อมามีรายงานว่า ผลผลิตจากแหล่งที่ใช้ปุ๋ยของตลาดมีสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ถัดมาคือ การนำขยะอินทรีย์ไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อขายและใช้ในตลาดได้ต่อ และนอกจากนี้คือ การนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ไปขายต่อ

 

5. สร้างความร่วมมือด้วยคอนเสิร์ต

 

ข้อสุดท้ายแต่สำคัญสุด เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการทำอะไรก็ตามให้สำเร็จ คือ จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความร่วมมือ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโครงการดีๆ หลายโครงการถึงล้มเหลว เหตุผลไม่ใช่เพราะสิ่งที่ทำไม่ดีพอ แต่ปัญหาคือไม่สามารถหาวิธีทำให้คนร่วมมือได้อย่างยั่งยืน ความท้าทายนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการตลาดสี่มุมเมืองเข้าใจเป็นอย่างดี จึงใช้วิธีสุดสร้างสรรค์ ด้วยการนำ “คอนเสิร์ต” มาใช้ในการสื่อสาร 

 

กล่าวคือ ทางตลาดหาวิธีให้คนมาฟังโครงการด้วยวิธีที่ใครๆ ก็เต็มใจอยากมาฟัง นั่นคือการจัดคอนเสิร์ต โดยใช้เวลาระหว่างคอนเสิร์ตค่อยๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ พอจัดคอนเสิร์ตบ่อยๆ คนในตลาดก็รับสารกันมากขึ้น ประกอบกับสร้างระบบที่ชัดเจน เช่น ทำบาร์โค้ดคนขนขยะออกมา ทำจุดทิ้งขยะชัดเจน ก็ช่วยให้คนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง ในที่สุดคนในตลาดก็ช่วยกันแยกและขนขยะไปตามแผนที่วางไว้ได้สำเร็จ 

 

และทั้งหมดนี้ก็คือ วิธีการเจ๋งๆ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการจัดการขยะของตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งสามารถลดขยะที่ต้องกำจัดได้มากกว่า 50 % และสร้างขยะรีไซเคิลได้มากกว่าวันละ 3 ตัน นอกจากนี้ แต่ละปีขยะเหล่านี้ยังสร้างรายได้กลับสู่ตลาดมากกว่า 1,400,000 บาท ส่วนคนงานในตลาดก็ได้รายได้มากขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ได้ประโยชน์ เรียกว่า งานนี้มีแต่ได้กับได้ ซึ่งนี่แหละคือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า “สิ่งตรงหน้าจะเป็นโอกาสหรืออุปสรรคขึ้นอยู่กับวิธีมอง” อย่างที่ตลาดสี่มุมเมืองทำให้ขยะเกิดประโยชน์ได้นั่นเอง